Mindszenty, Jōzsef (1892-1975)

คาร์ดินัลโยเซฟ มีนด์เชนตี (พ.ศ.๒๔๓๔-๒๕๑๘)

​​​​​​​

     โยเซฟ มีนด์เชนตีเป็นคาร์ดินัลชาวฮังการีที่เป็นกระบอกเสียงสำคัญของฝ่ายอนุรักษนิยม เขาต่อต้านลัทธิเผด็จการเบ็ดเสร็จ (totalitarianism) และลัทธิฟาสซิสต์ (Fascism)* ทั้งของอิตาลีและเยอรมนี หลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* มีนด์เชนตี เคลื่อนไหวเรียกร้องให้ราชวงศ์ฮับส์บูร์ก (Habsburg)* กลับมาปกครองประเทศแต่ประสบความล้มเหลว ในปลายสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* สหภาพโซเวียตได้เข้าปลดปล่อยฮังการีจากการยึดครอง ของเยอรมนีและกองทัพแดง (Red Army)* ของโซเวียต ก็สนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์ฮังการีให้ได้อำนาจทางการเมือง มีนด์เชนตีต่อต้านการยึดอำนาจทางการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์ฮังการี เขาจึงถูกจับกุมใน ค.ศ. ๑๙๔๘ และได้รับโทษจำคุกตลอดชีวิต
     มีนด์เชนตีเกิดในครอบครัวชาวนาที่หมู่บ้านมีนด์เชนตี เมืองเชฮีมีนด์เชนต์ (Cschimindszent) ในจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี (Austro-Hungarian Empire)* เมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม ค.ศ. ๑๘๙๒ ครอบครัวส่งเขาไปเรียนโรงเรียนสอนศาสนาที่ซอมบอตเฮ (Szombathely) และต่อมาเมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๑๕ เขาบวชเป็นบาทหลวงในคริสตจักรโรมันคาทอลิก เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๑ สิ้นสุดลง ฮังการีได้เปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นสาธารณรัฐโซเวียตฮังการี (Hungarian Soviet Republic)* ในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๑๘ โดยมีเบลา คุน (Bela Kun)* เป็นผู้นำมีนด์เชนตีได้เคลื่อนไหวสนับสนุนกลุ่มอนุรักษนิยมและกองทัพที่นีโคเลาส์ มิคโลช ฮอร์ที เดนอจบานยา (Nikólas Mikloś Horthy de Nagybanya ค.ศ. ๑๘๖๘-๑๙๕๗)* เป็นผู้นำโค่นอำนาจพรรคคอมมิวนิสต์ บทบาทดังกล่าวมีส่วนทำให้เขาเป็นที่นิยมของกลุ่มการเมืองอนุรักษนิยม เขาสนับสนุนจักรพรรดิชาลส (Charles ค.ศ. ๑๙๑๖-๑๙๑๘)* จักรพรรดิองค์สุดท้ายของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี ซึ่งประทับลี้ภัยที่สวิตเซอร์แลนด์ให้กลับมาปกครองประเทศในฐานะกษัตริย์อีกครั้งหนึ่ง แต่ประสบความล้มเหลว เพราะประเทศมหาอำนาจพันธมิตรไม่เห็นด้วย ทั้งจักรพรรดิชาลส์ซึ่งลักลอบเข้ามาในฮังการีถึง ๒ ครั้งเพื่อฟื้นฟูระบอบกษัตริย์ก็ถูกมหาอำนาจสัมพันธมิตรลงโทษด้วยการเนรเทศไปเกาะมาเดรา (Madeira) ทางฝั่งตะวันออกของทวีปแอฟริกาและทรงประทับอยู่ที่นั่นจนสิ้นพระชนม์
     เมื่อเยอรมนีเข้ายึดครองฮังการีในตอนปลายสงครามโลกครั้งที่ ๒ มีนด์เชนตีต่อต้านรัฐบาลหุ่นฮังการีที่เยอรมนีจัดตั้งขึ้นและเคลื่อนไหวคัดค้านนโยบายการกวาดล้างชาวฮังการีเชื้อสายยิวไปคุมขังในค่ายกักกัน (Concentration Camp)* เขาได้เปลี่ยนชื่อสกุลเดิมคือเพม (Pehm) ซึ่งเป็นเสียงเยอรมันมาเป็นมีนด์เชนตีตามชื่อหมู่บ้านที่เขาเกิด และใน ค.ศ. ๑๙๔๔ ได้รับแต่งตั้งเป็นบิชอปแห่งเวสซ์เพรม (Veszprém) ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๔๔ เขาถูกจับขังคุกด้วยข้อหาต่อต้านรัฐบาลและบ่อนทำลายความมั่นคง ทางสังคม อย่างไรก็ตาม เมื่อรัฐบาลฮังการีถูกโค่นอำนาจในกลางเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๔๕ มีนด์เชนตีได้รับการปล่อยตัวในปีเดียวกันและได้รับแต่งตั้งเป็นอาร์ชบิชอปแห่งเอสเตอร์โกม (Esztergom) ซึ่งทำให้เขามีสถานภาพเป็นผู้แทนสันตะปาปาแห่งฮังการี ในปีต่อมา เขาได้รับแต่งตั้งเป็นคาร์ดินัล
     หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ฮังการีซึ่งตกอยู่ใต้อิทธิพลของสหภาพโซเวียตเปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นคอมมิวนิสต์โดยเรียกชื่อประเทศว่าสาธารณรัฐประชาชนฮังการี (Hungarian Peoples’ Republic) มีนด์เชนตีต่อต้านการยึดอำนาจของรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์ใน ค.ศ. ๑๙๔๗ และเคลื่อนไหวต่อต้านนโยบายของพรรคคอมมิวนิสต์ที่สลายอำนาจของศาสนจักรในการควบคุมทางการศึกษา เขาจึงถูกจับกุมเมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๔๘ ด้วยข้อหาทรยศ ต่อชาติ ต่อต้านนโยบายของรัฐ และมีพฤติกรรมการจัดการเงินแบบผิดกฎหมาย ในการพิจารณาคดีเขาซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๔๙ มีนด์เชนตียอมรับความผิดตามข้อกล่าวหาทั้งหมด ฝ่ายโลกตะวันตกเชื่อว่าเขาถูกล้างสมอง หรือถูกบังคับให้เสพยาจนเลอะเลือนและต้องยอมรับสารภาพตามที่ทางการต้องการจะได้ยิน เขาถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต
     ใน ค.ศ. ๑๙๕๖ เมื่อนีกีตา เซียร์เกเยวิช ครุชชอฟ (Nikita Sergeyevich Khruschev ค.ศ. ๑๘๙๔-๑๙๗๑)* ผู้นำสหภาพโซเวียตดำเนินนโยบายการล้มล้างอิทธิพลสตาลิน (De-Stalinization)* พรรคคอมมิวนิสต์ประเทศยุโรปตะวันออกซึ่งเป็นรัฐบริวาร ของโซเวียต (Soviet bloc) จึงเห็นเป็นโอกาสใช้เงื่อนไขการล้มล้างอิทธิพลสตาลินปฏิรูปการเมืองในประเทศชาวฮังการีได้เคลื่อนไหวเรียกร้องความเป็นประชาธิปไตยให้มากขึ้นและต้องการแยกตัวออกจากสหภาพโซเวียตตลอดจนลาออกจากการเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาวอร์ซอ (Warsaw Pact)* สหภาพโซเวียตจึงส่งกองทัพเข้ามาปราบปรามจนนำไปสู่การลุกฮือของชาวฮังการี (Hungary Uprising)* ในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๕๖ ในช่วงที่ ฮังการีดำเนินการปฏิรูปประเทศให้เป็นประชาธิปไตยนั้น อิมเร นอจ (Imre Nagy ค.ศ. ๑๘๙๖-๑๙๕๘)* ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์เสรีนิยมได้ปล่อยตัวคาร์ดินัลมีนด์เชนตี
     หลังสหภาพโซเวียตปราบปรามการลุกฮือของชาวฮังการีได้สำเร็จในวันที่ ๔ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๕๖ ครุชชอฟได้สนับสนุนยานอช คาดาร์ (Janos Kadar ค.ศ. ๑๙๑๗-๑๙๘๙)* คอมมิวนิสต์สายกลางให้ขึ้นเป็นผู้นำพรรคฮังการี คาดาร์ยินยอมให้มีนด์เชนตีได้รับการคุ้มครองจากสหรัฐอเมริกาโดยกักบริเวณในสถานอัครราชทูตของสหรัฐอเมริกาในกรุงบูดาเปสต์ (Budapest) จนถึง ค.ศ. ๑๙๗๑ ในต้นทศวรรษ ๑๙๗๐ สหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตได้ปรับความสัมพันธ์ทางการทูตซึ่งนำไปสู่ยุคแห่งการผ่อนคลายความตึงเครียด (Detente)* บรรยากาศทางการเมืองที่เอื้ออำนวยดังกล่าวทำให้มีนด์เชนตีได้รับอนุญาตให้เดินทางออก นอกประเทศได้ เขาเดินทางไปพำนักที่กรุงโรมระยะหนึ่งโดยเป็นแขกของสำนักวาติกัน (Vatican) ในบั้นปลายชีวิต เขาลาออกจากการเป็นผู้แทนของสันตะปาปาใน ค.ศ. ๑๙๗๔ และเดินทางกลับมาอาศัยอยู่ที่ชุมชนคริสตจักรชาวฮังการีที่กรุงเวียนนา เขาเขียนบันทึกความทรงจำเรื่อง Memorirs ซึ่งพิมพ์เผยแพร่ใน ค.ศ. ๑๙๗๔
     คาร์ดินัลโยเซฟ มีนด์เชนตีมรณภาพเมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๗๕ รวมอายุ ๘๓ ปี ศพของเขาถูกฝังไว้ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย แต่หลังการล่มสลายของระบอบคอมมิวนิสต์ในฮังการี มีการย้ายศพของเขามาฝังไว้ที่บาซิลิกา (Basilica) ในโบสถ์ที่เมืองเอสเตอร์โกม ประเทศฮังการี.



คำตั้ง
Mindszenty, Jōzsef
คำเทียบ
คาร์ดินัลโยเซฟ มีนด์เชนตี
คำสำคัญ
- องค์การสนธิสัญญาวอร์ซอ
- เวสซ์เพรม, บิชอปแห่ง
- มาเดรา, เกาะ
- นอจ, อิมเร
- เดนอจบานยา, นีโคเลาส์ มิคโลช ฮอร์ที
- คุน, เบลา
- ชาลส์, จักรพรรดิ
- ครุชชอฟ, นีกีตา เซียร์เกเยวิช
- ค่ายกักกัน
- การล้มล้างอิทธิพลสตาลิน
- การลุกฮือของชาวฮังการี
- ออสเตรีย-ฮังการี, จักรวรรดิ
- ฮับส์บูร์ก, ราชวงศ์
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- ลัทธิฟาสซิสต์
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- กองทัพแดง
- เชฮีมีนด์เชนต์, เมือง
- ลัทธิเผด็จการเบ็ดเสร็จ
- มีนด์เชนตี, โยเซฟ
- สำนักวาติกัน
- ฮังการี, สาธารณรัฐโซเวียต
- อาร์ชบิชอปแห่งเอสเตอร์โกม
- ฮังการี, สาธารณรัฐประชาชน
- คาดาร์, ยานอช
- ยุคแห่งการผ่อนคลายความตึงเครียด
- บูดาเปสต์, กรุง
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1892-1975
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ.๒๔๓๔-๒๕๑๘
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
อัธยา โกมลกาญจน
บรรณานุกรมคำตั้ง
-
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม ๕ อักษร L-O ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กองธรรมศาสตร์และการเมือง 5.M 395-576.pdf